เขียนโดย Super User

 

หนทางอันแสนไกล รู้ไหมเมืองไทยมีกี่กิโล

         เมื่อพูดถึงถนนทุกคนคงรู้จัก แล้วเรารู้กันไหมว่าทางหลวงแบ่งออกเป็นกี่ประเภท วันนี้เราจะมาดูกัน ทางหลวงในประเทศไทยนั้นอยู่ในความควบคุมของ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม แบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลัก ได้แก่ ทางหลวงพิเศษ, ทางหลวงแผ่นดิน, ทางหลวงชนบท, ทางหลวงท้องถิ่น และทางหลวงสัมปทาน นอกจากนี้ยังมี ทางพิเศษ คือทางหรือถนนซึ่งจัดสร้างขึ้นหรือได้รับโอน ได้รับมอบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจราจรเป็นพิเศษ

 ภาพที่ 1. หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานทางถนน

 1.ทางหลวงพิเศษ หรือเรียกอีกกันอีกในชื่อนึงว่า มอเตอร์เวย์ คือ ทางหลวงที่สร้างหรือทำขึ้นมาเพื่อให้การจราจรผ่านได้ตลอดอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ โดยมี กรมทางหลวง เป็นผู้ดูแลดำเนินการ มีระยะทาง 224.600 กม.

 2.ทางหลวงแผ่นดิน หรือเรียกอีกอย่างว่า ถนนสายหลัก จะมีหมายเลขกำกับ แบ่งเป็นหมวดหมู่ตัวเลขตั้งแต่หนึ่งหลักจนถึงสี่หลัก โดยมีเส้นทางหลักอยู่ 4 เส้นทาง คือ  (ถนนพหลโยธิน) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1  (ถนนมิตรภาพ) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2  (ถนนสุขุมวิท) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนเพชรเกษม) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 นอกจากนี้ยังมีถนนทางหลวงที่มีเลขสองหลักคือ เส้นทางสายประธานที่จะเชื่อมจากทางหลวงหลักแยกผ่านออกไปสู่พื้นที่สำคัญในแต่ละจังหวัด, ทางหลวงที่มีเลขสามหลักเป็นทางหลวงสายรองประธานที่จะเชื่อมต่อจากทางหลวงเลขตัวเดียวหรือสองตัว เพื่อเข้าสู่พื้นที่ย่อยอีกที และทางหลวงที่มีเลขสี่หลัก เป็นทางสั้นที่เชื่อมต่อเข้าสู่พื้นที่ย่อยในแต่ละอำเภอ มีระยะทาง 51,849.747 กม.

 3.ทางหลวงชนบท หรือที่เราเรียกกันว่า ถนนสสายรอง เป็นทางหลวงที่อยู่ในความดูแลของ กรมทางหลวงชนบท ซึ่งจะเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน หรือสถานที่สำคัญต่างๆ ในแต่ละจังหวัด โดยบนป้ายทางหลวงชนบทจะประกอบด้วยตัวอักษรย่อของจังหวัด 2 ตัว และเลข 4 ตัวมาใช้กำกับ มีระยะทาง 48,031.391 กม.

 4.ทางหลวงท้องถิ่น เป็นทางหลวงที่อยู่ในความดูแลของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการเชื่อมต่อกันระหว่างหมู่บ้าน ตำบล หรือเทศบาล บนป้ายทางหลวงท้องถิ่นจะประกอบด้วยตัวอักษร 3 ตัว และตัวเลข 5 หลักกำกับไว้ จากข้อมูลของ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข) ปี 2562 ถนนในความดูแลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย มีความยาว 597,667 กม. ในที่นี้รวมถนนในกรุงเทพมหานครอีก 4,074.380 กม.

 5.ทางหลวงสัมปทาน เป็นทางหลวงที่กรมทางหลวงได้ให้เอกชนสัมปทาน ทางหลวงสัมปทานจะมีระบบตัวเลขเหมือนกับทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงพิเศษ ขึ้นอยู่กับลักษณะของทางหลวงสัมปทานนั้นว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร โดยปัจจุบันมีทางหลวงสัมปทาน 1 เส้นทางคือ ทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) เฉพาะช่วงทางยกระดับดินแดง–ดอนเมือง บนถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทางทั้งสิ้น 28.224 กม.

 

ภาพที่ 2. ระยะทางถนนประเทศไทย

           นอกจากนี้ยังมีถนนบางเส้นทางที่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนจึงไม่ได้ถูกจัดอยู่ใน 5 ประเภทนี้ เช่น ถนนเลียบคลองชลประทาน ถนนนิคมอุตสาหกรรม ถนนในพื้นที่เอกชน เป็นต้น ถนนในเมืองไทยยาวไกลใช่เล่น อย่าลืมใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยด้วยการปฏิบัติตามกฎเพื่อลดอุบัติเหตุกันด้วยนะทุกคน

 

สืบค้นข้อมูลจาก   รายงานโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม พ.ศ.2561 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการขนส่งและจราจร สนข., 2562

                       https://www.autostation.com/knowledge/highway-in-thailand

0
0
0
s2smodern